แบ่งบรรจุน้ำยาแอร์และจัดเก็บอย่างไรไม่ให้ถังน้ำยาแอร์ระเบิด!


แบ่งบรรจุน้ำยาแอร์และจัดเก็บอย่างไรไม่ให้ถังน้ำยาแอร์ระเบิด!
 
1.ต้องใช้ตาชั่ง ตวงน้ำหนักให้แม่นยำ ไม่ใช้ "เวิร์บทูเดา" นะครับประมาณว่าชั่งน้ำหนักตอนถ่ายน้ำยาแอร์ พอหิ้วถังแล้วรู้สึกว่ามันหนัก ๆ มือแล้วก็พอครับ แบบนี้ควรเลี่ยงนะครับอันตรายมาก ต้องดูเลยนะครับ นน.ถังเหล็กกี่ กก. นน.น้ำยาเข้าไปกี่ กก. รวมทั้งสิ้นคือกี่ กก. แบบนี้เลยครับ
 
2.ต้องรู้ว่าถังเหล็กที่นำมาบรรจุนั้นบรรจุน้ำยาแอร์ได้สูงสุดกี่กิโลกรัมและทนแรงดันสูงสุดได้กี่ปอนด์และที่อุณหภุมิสุงสุดเท่าใด ใช้สำหรับเติมน้ำยาแอร์ชนิดใดโดยเฉพาะหรือไม่ แนะนำว่าไม่ควรนำไปเติมน้ำยาแอร์ต่างชนิดกัน เพราะแรงดันที่ไม่เท่ากันจะทำให้คุณสับสน เว้นเสียแต่ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนให้ทำตามนี้
 
สมมติว่าคุณต้องการนำถังเหล็กเปล่าซึ่งเคยบรรจุ R22 ขนาด 13.6 กิโลกรัม ความหนา 1.0 มม. (น้ำหนักถังประมาณ 2.5 กิโลกรัม) เพื่อนำไปบรรจุ
R410a, R404a, R407f, R507 ให้ใช้สูตร 13.6 x 0.55 = 7.5 กิโลกรัมในที่นี้ผมแนะนำว่าไม่ควรเกิน 7 กิโลกรัม
R32 ให้ใช้สูตร 13.6 x 0.34 = 4.6 กิโลกรัม
ในที่นี้ผมแนะนำว่าไม่ควรเกิน 4 กิโลกรัม
 
ขอเน้นนะครับว่าเรา "ไม่ได้แนะนำให้นำถังเก่าไปบรรจุใหม่" ให้เอาสูตรนี้ไว้ใช้ในกรณีที่จำเป็นเพื่อป้องกันการระเบิดเท่านั้นนะครับ และไม่รับรองความปลอดภัยในการนำถังมือสองไปใช้นะครับ
 
3.สภาพถังเก่าเพียงใด บางทีเห็นสภาพถังแล้วมีแต่สนิมเขรอะเต็มไปหมดแทบมองหาสีถังเดิมไม่เจอ คงเคยเห็นกันมาแล้วสนิม 80% เหลือสีเขียวของ R22 ติดอยู่แค่ 20% แบบนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงนะครับ ตัดใจซื้อใหม่ดีกว่า
 
4.ไม่เก็บไว้ในที่อุณหภูมิสูงเกินกว่า 52 องศาเซลเซียสและห้ามเก็บไว้หลังรถกระบะที่มีอากาศร้อนจัดปิดกระจกทุกด้าน ปิดฝาทุกบาน และเกิดความร้อนสะสม กรณีต้องพกติดขึ้นรถไปเซอร์วิสงานต้องให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกคือต้องมีช่องลมผ่านเข้าได้และห้ามจอดตากแดดนะครับ
 
5.ห้ามนำไปเติม "ไนโตรเจน" ไม่ว่าผ่าน Regulator หรือไม่ก็ตาม เขียนอีกครั้ง ห้ามนำไปเติม "ไนโตรเจน" เป็นอันขาด ตายกันมาเยอะแล้วนะครับเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
 
6.ห้ามมิกซ์แก๊ซหรือใส่ส่วนผสมของสสารใด ๆ สองชนิดรวมกันในถังเดียวโดยที่คุณไม่เคยรู้จักโดยเด็ดขาด เพื่อทดลองวิชาหรือเพื่ออวดสรรพคุณกันโดยที่ไม่มีความชำนาญ
 
ยกตัวอย่าง: สาร Detergent บางชนิดทำปฏิกิริยากับสารฟรีออนและส่งผลให้เกิดการขยายตัวของโมเลกุลอย่างรวดเร็ว บนพื้นที่ที่จำกัดในระยะเวลาที่สั้น Pressure จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและถังจะมีอุณหภูมิสูงแตะ 50 องศาเซลเซียสในช่วงอึดใจ คุณจะกระวนกระวายและแก้ปัญหาพวกนี้ไม่ทัน ผมเคยอยู่ในเหตุการณ์นั้นและสัมผัสได้ว่ายมฑูตยืนอยู่ใกล้ ๆ เรานี่เอง จึงขอแนะนำว่า "หลีกเลี่ยง" ในข้อที่ 6 นี้เช่นกันครับ
 
7.ไม่นำของวางน้ำยาแอร์ไว้ในที่ร้อนจัดและไม่มีอากาศถ่ายเทเป็นเวลานานโดยเด็ดขาด เพราะมันพร้อมที่จะระเบิดออกทุกเวลา อย่าหวังพึ่งเซฟตี้วาล์วเล็ก ๆ ที่ไหล่ถังหรือที่วาล์วถังเพราะบางทีมันก็ไม่มีอะไรการันตีว่ามันจะทำงานทุกครั้ง
 
8.สารทำความเย็นรุ่นใหม่ ๆ มีสารติดไฟออกมาจำหน่ายมาก อย่าง R32, R1234yf (A2L) หรือ R290, R600a (A3) ก็อย่าได้ประมาท มีเครื่องดับเพลิงแบบพกพาติดรถไว้ด้วยดีที่สุดและเชื่อว่าหลายคนยังไม่มีนะครับ
 
ด้วยความปรารถนาดีจาก Blue Planet Refrigerant
 
by Jackie Blue
www.blueplanet.co.th